หน้าแรก เกี่ยวกับหน่วยงาน การจัดบริการ ข่าวและกิจกรรม กิจกรรมและโครงการพิเศษ เรื่องที่เกี่ยวข้อง กระดานสนทนา FQA

ถาม ศูนย์พัฒนการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุให้บริการอย่างไรบ้าง
   
ตอบ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ให้บริการ ๔ ลักษณะ ดังนี้
  (๑)

ศูนย์บริการผู้สูงอายุ สำหรับให้บริการผู้สูงอายุที่มาขอใช้บริการที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ได้จัดไว้ในเวลากลางวัน

  (๒)

ศูนย์บริการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ สำหรับให้บริการเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่มาขอให้บริการแบบเช้าไป - เย็นกลับ

  (๓)

บ้านพักฉุกเฉิน สำหรับให้บริการผู้สูงอายุเป็นการชั่วคราวไม่เกิน ๑๕ วัน หากผู้สูงอายุมีเหตุจำเป็นต้องพักเป็นระยะนานกว่าที่กำหนด ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการศูนย์ฯ

 

(๔)

บ้านพักผู้สูงอายุมี ๓ ประเภท ดังนี้

    ก. ประเภทสามัญ ได้แก่ การให้บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยไม่เสียค่าบริการ
    ข. ประเภทหอพัก ได้แก่ การให้บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยเสียค่าบริการให้ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ตามอัตราที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนด
    ค. ประเภทปลูกบ้านอยู่เอง ได้แก่ การให้บริการผู้สูงอายุ โดยอนุญาตให้ผู้สูงอายุปลูกบ้านพักอยู่อาศัยในบริเวณศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ตามหลักเกณฑ์ที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนด
ถาม ผู้ประสงค์เข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
   
ตอบ ระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่าด้วยการให้บริการผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดคุณสมบัติของผู้ประสงค์เข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุไว้ ดังนี้
  ข้อ ๖ ผู้สูงอายุที่มีความประสงค์เข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
    (๑) มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป
    (๒) ไม่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดอาญา และอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
    (๓) ไม่เป็นโรคเรื้อรังหรือโรคติดต่อร้ายแรง
    (๔) ไม่พิการทุพพลภาพ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
   

(๕)

สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในกิจวัตรประจำวัน
  ข้อ ๗ ผู้สูงอายุที่ประสงค์จะสมัครเข้าพักในบ้านพักฉุกเฉิน ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และต้องเป็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
    (๑) ไม่มีที่พักอาศัย
      - ระหว่างรอเข้ารับอุปการะในสถานสงเคราะห์
      - ระหว่างรอพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล
      - ระหว่างรอส่งกลับภูมิลำเนา
      - ระหว่างทำกายภาพบำบัด ตามที่แพทย์สั่ง
    (๒) ไม่มีผู้ดูแล เนื่องจากบุตรหลานไปทำธุระที่อื่น
    (๓) มีปัญหาด้านจิตใจอย่างรุนแรง จำเป็นต้องห่างจากครอบครัวระยะหนึ่ง
    (๔) พลัดหลง โดยหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือพลเมืองดีนำส่ง
  ข้อ ๘ ผู้สูงอายุที่มีความประสงค์เข้าอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุ ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และเป็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
    (๑) ฐานะยากจน
    (๒) ไม่มีที่อยู่อาศัย
    (๓) ขาดผู้อุปการะ หรือผู้ให้ความช่วยเหลือ
    (๔) ไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้อย่างปกติสุข
ถาม การติดต่อเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
   
ตอบ ผู้สูงอายุที่มีผู้ประสงค์เข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่
  (๑) ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นสมัครที่สำนักบริการสวัสดิการสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน เขต ๑ - ๑๒ (คลิก เพื่อดูรายชื่อและที่ตั้งหน่วยงาน สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ)
  (๒) ในส่วนภูมิภาค ให้ยื่นสมัครที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) หรือศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในพื้นที่ หรือศูนย์พัฒนาสังคมประจำจังหวัด (ศพส.)
  (๓)

ให้ผู้อำนวยการศูนย์ มีอำนาจในการอนุญาตให้ผู้สูงอายุเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ

ถาม ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ มีข้อปฏิบัติและข้อห้ามสำหรับผู้รับบริการอย่างไร
   
ตอบ ระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่าด้วยการให้บริการผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดข้อปฏิบัติและข้อห้ามสำหรับผู้รับบริการไว้ ดังนี้
  ข้อ ๑๑ ผู้รับบริการจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
    (๑) ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบที่กำหนดขึ้นในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
    (๒) แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
    (๓) รักษาความสามัคคีในหมู่คณะ ไม่ทะเลาะวิวาทหรือชักชวน ยุยง ส่งเสริม ให้ผู้ใดกระทำผิด หรือฝ่าฝืนต่อระเบียบของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
    (๔) ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
   

(๕)

ช่วยดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและใช้โดยประหยัด
   

(๖)

เข้าร่วมกิจกรรมตามที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจัดให้ตามความเหมาะสม
  ข้อ ๑๒ ผู้รับบริการจะประพฤติปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ไม่ได้ คือ
    (๑) มีพฤติกรรมฉันท์ชู้สาว หรือมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้รับบริการ
    (๒) ทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น
    (๓) นำบุคคลภายนอกเข้ามาค้างแรมในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ หรือบ้านฉุกเฉิน และห้ามผู้รับบริการไปค้างแรมที่อื่น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยศูนย์หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
    (๔) กระทำการใด ๆ ซึ่งก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
    (๕) มีสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ในครอบครอง
      ก. เฮโรอีน ฝิ่น กัญชา ทินเนอร์ ยาอันตราย หรือสิ่งเสพติดต่างๆ
      ข. สุรา หรือเครื่องดองของเมา
      ค. อุปกรณ์การพนัน
      ง. อาวุธ หรือของมีคมทุกชนิด หรือสิ่งที่ใช้เป็นอาวุธได้
      จ. วัตถุระเบิด หรือเชื้อเพลิง
      ฉ. สิ่งของอื่น ๆ ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จะกำหนดและประกาศเพิ่มขึ้น
    (๖) เล่นการพนันทุกชนิด
    (๗) ลักทรัพย์ของผู้อื่น
    (๘) สูบบุหรี่ หรือจุดธูปเทียนบูชาพระในเรือนนอน
    (๙) เสพสุรา หรือของมึนเมาทุกชนิดเข้าในบริเวณศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
    (๑๐) นำสัตว์ทุกชนิดมาเลี้ยงในบริเวณศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
    (๑๑) นำอาหารไปรับประทานนอกห้องอาหาร ยกเว้นผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตแล้ว
    (๑๒) ประกอบอาหารในเรือนนอน
    (๑๓) นำทรัพย์สินของทางราชการมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว
    (๑๔) ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ
    (๑๕) กระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนความสงบสุขต่อราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ถาม มีมาตรการอย่างไรหรือไม่สำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว
   
ตอบ ระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่าด้วยการให้บริการผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดมาตรการสำหรับผู้รับบริการไม่ปฏิบัติตามระเบียบไว้ ดังนี้
  ข้อ ๑๓ เมื่อผู้สูงอายุเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุให้ผู้อำนวยการศูนย์ แจ้งข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามระเบียบนี้ และคำสั่งหรือระเบียบที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ กำหนดขึ้นให้ผู้สูงอายุทราบ โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยว่าผู้รับบริการมีความเต็มใจปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งที่รับทราบทุกประการ
     
    ผู้รับบริการที่ฝ่าฝืนระเบียบ หรือคำสั่งที่ได้รับแจ้งไว้ตามวรรคแรกให้ผู้อำนวยการศูนย์ดำเนินการ ดังนี้
    (๑) ความผิดครั้งที่ ๑ ให้ว่ากล่าวตักเตือน
    (๒) ความผิดครั้งที่ ๒ ทำทัณฑ์บนไว้เป็นหนังสือ
    (๓) ความผิดครั้งที่ ๓ ผู้อำนวยการศูนย์ มีอำนาจพิจารณาสั่งให้ออกจากศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
  ข้อ ๑๔ ให้เจ้าหน้าที่ผู้พบเห็นผู้รับบริการกระทำความผิด เป็นผู้รายงานต่อผู้อำนวยการศูนย์ ฯ เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง แล้วพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม
  ข้อ ๑๕ ผู้รับบริการผู้ใดจงใจกระทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ หรือประทุษร้ายต่อร่างกายของเจ้าหน้าที่ หรือผู้รับบริการด้วยกัน หรือกระทำความผิดทางอาญาให้ผู้อำ นวยการศูนย์ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำ เนินคดีตามกฎหมาย แล้วรายงานให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการทราบทันที
ถาม เมื่อพบเห็นผู้สุงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล จะสามารถนำส่งศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุได้เลยหรือไม่
   
ตอบ พึงระลึกเสมอว่า การนำส่งบุคคลเข้ารับบริการประเภทอยู่ประจำยังศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ หรือสถานสงเคราะห์คนชรานั้น ควรเป็นทางเลือกที่จะดำเนินการเป็นลำดับสุดท้าย เพราะแท้จริงแล้วผู้สูงอายุอาจต้องการการจัดสวัสดิการในรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เช่น การสนับสนุนด้านอาชีพ รายได้ หรือสุขภาพ
       
  เมื่อปรากฏผู้สุงอายุที่ถูกทอดทิ้ง หรือไม่มีผู้ให้การดูแล พึงสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชน เพื่อนบ้าน หรือหน่วยงานราชการและเอกชน ตลอดจนอาสาสมัครในพื้นที่ ได้แก่ อสม. อพม. อพมก. หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประชาบดี สายด่วนช่วยคุณได้ โทร. ๑๓๐๐
ถาม คำว่า "ผู้รับ" ที่ใช้เรียกในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ มีความหมายว่าอย่างไร
   
ตอบ คำว่า "ผู้รับฯ" นั้น เป็นคำย่อของคำว่า "ผู้รับบริการ" หรือ "ผู้รับการสงเคราะห์" หรือ "ผู้รับการฝึกวิชาชีพ" ตามแต่หน่วยงาน
 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม (ศผส.นพ.)
๑๐๑ หมู่ ๑๓ ถนนสายนครพนม-ท่าอุเทน กม.ที่ ๒๐
ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ๔๘๑๒๐
โทรศัพท์ ๐-๔๒๐๕-๐๐๕๕-๖ โทรสาร ๐-๔๒๐๕-๐๐๕๖

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม
หน่วยงานราชการในสังกัด
กรมกิจการผู้สูงอายุ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์